Homeschool เริ่มยังไง?
หลายครอบครัวที่เริ่มทำความเข้าใจว่า โฮมสคูล คืออะไร
พอลองหาข้อมูลเพิ่มเติม ก็เริ่มรู้สึกว่านี่อาจจะเป็นทางออกหนึ่งที่เหมาะสมกับสภาวะของครอบครัวเรา เราอยากจัดการศึกษาให้ลูกแบบโฮมสคูลบ้าง แต่ก็ยังลังเลไม่แน่ใจ เพราะยังจับต้นชนปลายไม่ถูก
เกิดคำถามขึ้นมาใหม่ในใจ ถ้าเราอยากทำ homeschool เราจะต้องเริ่มทำยังไง,
อยากทำ home school ต้องขออนุญาตใคร
หรือ เอ๊ะ มันต้องไปสมัคร home
school ที่ไหนรึเปล่า
นี่เป็นเรื่องปกติมากๆค่ะ ทุกครอบครัวที่กำลังจะตัดสินใจว่าจะทำโฮมสคูล ล้วนเคยผ่านจุดนี้มาหมดแล้ว
ครอบครัวของเราก็เช่น ถึงได้เป็นที่มาของการรวบรวม
TOP 5
คำถาม สำหรับใครที่สนใจ ว่าถ้าเราจะทำ Homeschool เราจะเริ่มยังไง
1. การทำโฮมสคูล Homeschool เริ่มยังไง?
เริ่มจากการประชุมกันในครอบครัวก่อนเลยค่ะ ว่าใครเป็นคนอยากทำโฮมสคูล
พ่อ แม่ หรือว่าลูก
ถ้าลูกยังเล็ก พ่อแม่อยากทำโฮมสคูลให้ลูกในช่วงปฐมวัย
ก็ต้องมานั่งคุยกันว่าทั้งพ่อทั้งแม่มีความเห็นตรงกันมั้ย อันนี้สำคัญมากค่ะ มีหลายบ้านที่ทำโฮมสคูลไปแบบที่พ่อหรือแม่ต้องยืดหยัดต่อสู้ไปคนเดียว
โดยคนที่เหลือในครอบครัวไม่เห็นด้วยเลย อันนี้ก็อาจจะไม่ค่อยดีนัก
เพราะการทำโฮมสคูลจะต้องมีผู้ปกครองอย่างน้อย 1 คนที่ต้องคอยใช้เวลาอยู่ใกล้ชิดกับลูก
การให้เวลาเป็นหัวใจหลักของการทำโฮมสคูล ตรงนี้เราคนเดียวอาจจะเหนื่อยและโหลดเกินไป
อาจจะทำให้บางครั้งเวลาเจอข้อสงสัยหรือพบปัญหา เกิดอาการเครียดหรือท้อ หันไปทางไหนก็ไม่มีใครเข้าใจ
แล้วก็ต้องล้มเลิกกลางคันไปอย่างน่าเสียดาย
ถ้าในครอบครัว ทั้งพ่อและแม่มีแนวความคิดตรงกันในการตัดสินใจเลือกทำโฮมสคูล
แต่มีใครคนนึงต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก อันนี้เป็นเรื่องปกติมากๆ
มีผู้ปกครองคนเดียวที่สะดวกให้เวลากับลูกก็สามารถทำโฮมสคูลได้แน่นอนค่ะ
ถ้าในครอบครัวที่ลูกโตแล้ว
และลูกมีสาเหตุทำให้ครอบครัวอยากทำโฮมสคูล อันนี้ถ้าประชุมในครอบครัวแล้ว ต้องการลาออกจากโรงเรียนเพื่อทำโฮมสคูล
ก็เริ่มเลยลงมือได้เลย เพราะถ้าเราตัดสินใจเริ่มแล้ว
ทุกความกังวลเกี่ยวกับการทำโฮมสคูลของเรา จะนำพาให้เราค้นหาคำตอบด้วยตัวเองทุกข้อทุกคำตอบ
ทุกอย่างมันมีหนทางของมัน อยู่ที่สมาชิกในครอบครัวเราพร้อมเรียนรู้ไปด้วยกันมั้ย
2. เรื่องหลักสูตรล่ะ หลักสูตร Homeschool มีมั้ย?
เรื่องหลักสูตร homeschool
นั้นมีเยอะแยะมากมาย
พูด 3 วันไม่จบค่ะ เอาเป็นว่าหลักสูตรสำหรับใช้ในการเรียนแบบโฮมสคูลนั้นไม่มีกำหนดตายตัว
จะมีหรือไม่มีก็ยังได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวจะเลือก
มีข้อมูลให้ศึกษาเยอะแยะมากมาย คือถ้าเราไปโรงเรียนไหนเราก็ต้องใช้หลักสูตรนั้นเรียน
แต่ถ้าทำโฮมสคูลเราก็สามารถเลือกหลักสูตรของตัวเอง จะเอาแบบที่สนใจ
เอาหลักสูตรของคนอื่นมาประยุกต์ หรือซื้อหลักสูตร homeschool ต่างประเทศมาเรียนกันก็ยังได้ค่ะ
อยากเรียนอะไรก็เรียนแบบนั้น สำคัญอย่างเดียวคือการเรียนอย่างต่อเนื่อง มีทิศทาง มีเป้าหมาย การเรียนที่ดีนั้นต้องใช้เวลามากพอที่จะตกผลึกเกิดการเรียนรู้ และจะต้องมีการทำซ้ำฝึกฝนให้เชียวชาญ
และยิ่งไม่มีใครมาบังคับว่าเราต้องเรียนอะไร ควรเรียนเมื่อไหร่ เราจะต้องยิ่งซื่อสัตย์กับตัวเอง
และมีวินัยในตัวเองมากขึ้นนะคะ
1 3. ค่าใช้จ่าย ในการทำ Home school
อันนี้ตอบได้เลยค่ะ
ว่าขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละครอบครัว ต้นทุนของครอบครัวโฮมสคูลแต่ละครอบครัวก็ไม่เท่ากันเหมือนกับครอบครัวอื่นในสังคมเลยค่ะ
แต่ที่เราเหมือนกันคือ พวกเราที่ทำ Home school ค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องเสียแน่ๆก็คือค่าเทอม
ค่าแปะเจียะ ค่าบำรุงอาคารสถานที่ ค่าชุดนักเรียน
แต่ส่วนที่พวกเราต้องลงทุนเพิ่มเติมก็แล้วแต่ว่าครอบครัวเราให้ความสำคัญกับอะไร
ขอยกตัวอย่างนะคะ
บางบ้านเรียนที่เค้าทำธุรกิจระหว่างประเทศ เดินทางไปทั่วโลก
เค้าก็จัดทริปการเรียนรู้ให้ลูกไปพร้อมๆกับการเดินทางไปทำงานด้วย บ้านเค้าประชุมกันมาแล้ว
ลูกเค้าจะรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว การพาลูกไปดูงาน
การเรียนรู้แบบสถาการณ์จริง ให้ลูกได้เจอลูกค้าจริง เจอปัญหาจริงๆ เมื่อพบปัญหา
สงสัยหรือติดขัดอะไร ก็หาข้อมูลเพื่อเรียนเพิ่มเติมตรงส่วนนั้น
ไม่ต้องเสียเวลาเรียนวิชาที่ไม่จำเป็น
หรือบ้านที่ลูกมีความถนัดในงานศิลปะ เค้าก็จะลงทุนพวกสี
เครื่องมือ อุปกรณ์มากหน่อย บางบ้านลูกเค้าถนัดกีฬาก็จะมีค่าใช้จ่ายหลักๆเป็นค่าอุปกรณ์และบางทีอาจมีค่าจ้างโค้ชมาฝึกสอน
ประมาณนี้ค่ะ บางบ้านลูกสนใจทำอาหารเค้าก็จะไปบริหารงบเน้นไปทางนั้นมากหน่อย
สรุปเมื่อเราทำ Home
school ค่าใช้จ่ายที่มีคือเมื่อลูกชอบเรียนอะไร
เราก็จะไปลงทุนตรงนั้นมากหน่อย ความจริงแล้วพอเราทำโฮมสคูลไปได้สักระยะ
เราจะเริ่มรู้ทิศทาง เราจะสามารถเริ่มปรับตัวเองเพิ่มงบตรงนั้น ประหยัดงบตรงนี้
ถัวๆกันไปค่ะ
อย่างครอบครัวของเรา ลูกชายคนโตชอบการเรียนแบบมอนเตสซอรี่
ชอบต่อเลโก้ ชอบเล่นบอร์ดเกมส์ ก็จะต้องเตรียมงบสำหรับกิจกรรมเหล่านี้ ส่วนทางด้านศิลปะ
ดนตรี ลูกยังไม่ค่อยสนใจ ค่าใช้จ่ายตรงนี้จะยังไม่มีค่ะ แต่ลูกชายคนเล็กก็ไม่แน่
พ่อแม่ต้องคอยสังเกตุและจัดสรรให้ลูกต่อไปค่ะ
อีกอย่างหนึ่งคือครอบครัวของเราเลี้ยงลูกแบบ 2
ภาษา
และเราสอนภาษาอังกฤษลูกด้วยตัวเอง ทำให้ประหยัดค่าคอร์สเรียนภาษาอังกฤษไปได้อีกเยอะทีเดียวค่ะ
และที่สำคัญ ถ้าเราทำโฮมสคูลโดยการจดทะเบียนกับเขตการศึกษา เราจะได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลอีกด้วยนะคะ
4. ต้องทำ Home School ไปถึงเมื่อไหร่
ในส่วนนี้ก็ต้องแล้วครอบครัว แล้วแต่ตัวเด็กเลยค่ะ ส่วนใหญ่ตอนนี้ พ่อแม่ที่ทำโฮมสคูลจะทดลองทำจนลูกถึง
6 ขวบแล้วก็เข้าเรียนชั้นป.1 และก็มีอีกหลายครอบครัวที่ตั้งใจทำโฮมสคูลจนถึง ป.6
หรือไปจนจบม.ปลาย แล้วก็สอบเข้าเรียนมหาลัย
มีทุกระดับชั้นค่ะ แล้วแต่การวางแผนของครอบครัวร่วมกับตัวเด็กเอง ยิ่งสมัยนี้หลายๆมหาวิทยาลัยในประเทศเรา
เปิดรับสมัครนักศึกษาแบบส่งพอร์ตฟอลิโอ หรือแฟ้มสะสมผลงาน เรามีความสามารถทำโฮมสคูลไปจนเท่าที่เราพอใจได้ค่ะ
1 5. ถ้าไม่ได้ไปโรงเรียนเลย แล้วจะเรียนทันคนอื่นเหรอ?
คำถามนี้ต้องขอตอบว่าแล้วแต่วิธีคิดของแต่ละบ้าน แล้วแต่ค่านิยมของแต่ละครอบครัวเช่นกันค่ะ เราหวังอยากให้ลูกทันใคร และทันเรื่องอะไร ในส่วนนี้ไม่มีผิดถูกค่ะ
คนเราทุกคนมีความสนใจไม่เหมือนกัน มีความถนัดคนละด้านกัน ดังนั้นโดยธรรมชาติแล้วแต่ละคนก็ไม่ทันกันในแต่ละเรื่องอยู่แล้วนะคะ
เด็กโฮมสคูลบางคนสะสมความสามารถของเค้าในแฟ้มสะสมผลงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่อายุ
10 ขวบ เค้าอาจจะพร้อมใช้ทักษะนั้นทำงานได้ตั้งแต่อายุ 16-17 หรือเร็วว่านั้น
แบบนี้ก็คือถือว่าทันในเรื่องทักษะการทำงานใช่มั้ยคะ
ขอยกตัวอย่างบ้านเรียนที่รู้จักคนหนึ่งนะคะ
น้องเค้าอายุ 10 ขวบ
มีความถนัดทางด้านศิลปะอย่างโดดเด่น น้องมีผลงานด้านศิลปะมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ
ตอนนี้น้องขายผลงานของน้องไปได้มากมายแล้ว ยังไม่นับผลงานที่ถูกประมูลไปแสดงในสถานที่ต่างๆทั่วโลก
น้องเป็นศิลปินเต็มตัวในวัยเพียงแค่ 10 ขวบ น้องอาจจะท่องสูตรคูณหรือวิเคราะห์ผลการทดลองไม่ทันเด็กวัยเดียวกัน
แต่รับรองว่าพ่อแม่ของน้องไม่กังวลเรื่องเหล่านี้แน่นอนค่ะ
หรือถ้าเป็นห่วงในวิชาการ ขอยกตัวอย่างบ้านเรียนที่รู้จักคนหนึ่งนะคะ
น้องอายุ 7 ขวบ เป็นเด็ก 2
ภาษาที่คุณแม่จัดการศึกษาให้เป็นหลัก
น้องมีความถนัดทางด้านภาษาอังกฤษ
คุณแม่น้องลองทดสอบวัดระดับความรู้ของน้อง
โดยใช้ข้อสอบที่จาก Test Prep book American Curriculum และ
GED Test ซึ่งผลออกมาดังนี้ค่ะ
การอ่าน อยู่ในระดับ เกรด 5 (ป.5)
การเขียน อยู่ในระดับ
เกรด 3 (ป.3)
คณิตศาสตร์ อยู่ในระดับ
เกรด 4
(ป.4)
ภาษาไทย อยู่ในระดับ อนุบาล 2
ซึ่งจะเห็นได้ชัดนะคะ
ว่าน้องคนนี้ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่ทันใครในเรื่องภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์เลย เพราะล้ำหน้าเกณฑ์อายุไปหลายปีแล้ว
เหลือในส่วนภาษาไทยที่ยังไม่ทันตามเกณฑ์อายุ ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพราะน้องยังไม่ได้เน้นการเรียนภาษาไทยเท่านั้นเองค่ะ
นี่เป็นการวัดผลตามความสามารถของลูกเรา
ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติมากๆ ที่เด็กคนหนึ่งจะมีทักษะบางวิชาที่สูงมาก และบางวิชาที่ลดหลั่นลงไปตามความสนใจของเด็ก ซึ่งโดยปกติครอบครัวที่ทำโฮมสคูลจะใช้โอกาสนี้ส่งเสริมความถนัดของลูก ให้เวลากับการพัฒนาทักษะที่ลูกทำได้ดี ให้ต่อยอดไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องรอเรียนตามเกณฑ์เหมือนในระบบโรงเรียนค่ะ
เราอาจจะใช้การวัดผลเป็นเครื่องมือช่วยค้นหาทิศทางให้กับลูกได้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การยอมรับตัวตนของลูกค่ะ หมั่นสังเกตุลูกเราชอบทำอะไร เค้ามีความถนัดอะไร เราก็ส่งเสริมให้เค้าค้นพบความสามารถของตนเอง
และให้เค้ามีเวลาอยู่กับมันมากพอที่จะพัฒนาตัวเองไปยังเป้าหมายที่เค้าตั้งใจค่ะ
มีคำถามเพิ่มเติมหรืออยากได้คำตอบเรื่องไหน
ทักทายหรือแนะนำมาได้นะคะ
ถ้าเรื่องไหนผ่านมาแล้ว มีข้อมูลอยู่บ้าง ก็ยินดีจะแชร์ให้กับทุกคนค่ะ