เราคงรู้กันดีอยู่แล้วว่าการอ่านเป็นพื้นฐานของการพูดและการเขียน ยิ่งอ่านมากยิ่งได้เปิดโลกทรรศน์มาก ยิ่งอ่านมากยิ่งมีคลังคำศัพท์มากขึ้นเท่านั้น พ่อแม่แทบทุกคนนั้นอยากปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก
เพื่อที่ลูกจะได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่รักการอ่านด้วย
อยากให้ลูกรักการอ่าน ไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าเราต้องเป็นพ่อแม่ที่รักการอ่านด้วย
การสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่านเริ่มต้นได้จากครอบครัว
ลองมาดู 10 แนวทางมาฝากทุกครอบครัวที่ตั้งใจจะสร้างลูกให้เป็นนักอ่านกันค่ะ
1. เริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังให้เร็วที่สุด
บางคนเริ่มอ่านตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้อง บางคนเริ่มอ่านเมื่อลูกคลอด แต่ถ้ายังไม่ได้เริ่มก็เอาเป็นว่ารู้ตัวเมื่อไหร่ก็รีบเริ่มต้นนั้นค่ะ เริ่มตอน2ขวบก็ยังดีกว่า5ขวบ
เริ่มตอน7ขวบก็ยังดีกว่าไม่เคยเริ่มเลยค่ะ
ไม่ต้องไปยึดติดกับอดีต เริ่มอ่านได้เลย อ่านไปตามความสนใจของลูก ถ้าลูกไม่สนใจก็พักไม่ต้องกดดัน แต่เน้นทำให้เป็นกิจวัตรสม่ำเสมอค่ะ
2. เป็นแบบอย่างที่ดี
ถ้าเราอยากให้ลูกมีพฤติกรรมอย่างไร เราก็ต้องทำแบบนั้นให้ลูกเห็น เพราะเราเป็นต้นแบบของลูกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดี ถ้าอยากให้ลูกรักการอ่าน พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบของนักอ่านที่ดีก่อน ลูกเห็นเราอ่านหนังสือทุกวัน เห็นเรามีหนังสือติดตัวอยู่ตลอดเวลา
ว่างเมื่อไหร่อ่านเมื่อนั้น แล้ววันนึงเราก็จะพบว่าลูกก็ทำเหมือนเราเป๊ะเลย
3. เลือกหนังสือให้เหมาะกับลูก
หนังสือที่ยากเกินวัยอาจจะทำให้เด็กเลิกล้มความตั้งใจที่จะอ่าน ลองเริ่มจากหนังสือที่มีรูปภาพสวยๆตัวหนังสือน้อยๆให้ลูกค่อยๆเริ่มจากดูภาพไปก่อน เราสามารถลงทุนกับหนังสือลูกได้มากเท่าที่ต้องการ แต่ถ้าไม่สะดวกก็ไม่ต้องกังวลค่ะ เราไม่จำเป็นต้องมีหนังสือหลายเล่มและไม่ต้องห่วงว่าลูกจะขาดความหลากหลาย เราสามารถปล่อยให้ลูกอ่านหนังสือเล่มโปรดของลูกซ้ำไปซ้ำมามากเท่าที่ลูกต้องการ
4. จัดมุมหนังสือภายในบ้าน
จัดวางมุมหนังสือที่บ้านให้เป็นพื้นที่สุดสบาย น่าเอาตัวไปขลุกอยู่ตรงนั้นนานๆ บรรยากาศดีมีแสงพอเพียง เด็กๆจะเคยชินว่าถ้าอยากอ่านหนังสือจะต้องมาอ่านที่มุมนี้
และอย่าลืมสร้างกติกาอ่านแล้วต้องเก็บที่เดิมหรืออ่านอย่างทะนุถนอมและเราจะไม่ฉีกหนังสือ
5. ใส่ใจชวนลูกอ่านหนังสือ
คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ลูกมาอ่านหนังสือด้วยกัน จะคาดหวังให้รอให้ลูกลุกมาเปิดหนังสืออ่านเองนี่
อาจจะไม่ได้เห็นบ่อยๆค่ะ ก่อนนอนเราอ่านนิทานให้ลูกฟังอย่างน้อยคนละ1เรื่องทุกคืน เด็กๆชอบมาก อ่านเรื่องเดิมซ้ำๆอยู่บ่อยๆค่ะ หนังสือมีน้อยก็ไม่ต้องกลัวลูกเบื่อ ขอให้การอ่านเป็นเวลาแห่งความสุขก็พอค่ะ
6. ให้กำลังใจลูก
หมั่นชื่นชมลูกอย่างจริงใจ เวลาเห็นลูกหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านด้วยตัวเอง และก็อย่าตำหนิลูกที่ไม่อยากอ่านหนังสือ นิสัยรักการอ่านของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากันแน่นอน และเริ่มช้าเริ่มเร็วก็ไม่เท่ากันด้วย แต่เราเชื่อว่าเด็กๆทุกคนมีสัญชาตญานของการใฝ่รู้ แม้แต่เด็กชายวัยทะโมน ถ้าสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศพาไปเค้าก็ตั้งใจอ่านหนังสือได้เป็นชั่วโมงนะคะ
7. หากิจกรรมสนุกๆมาประกอบหรือคุยต่อยอดความคิด
สำหรับเด็กบางคนการอ่านหนังสืออย่างเดียวอาจยังสะกดใจได้ไม่พอ
ถ้าพ่อแม่ลองเตรียมกิจกรรมมาเล่นกับลูก อาจจะช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีกับการอ่าน
และนำไปสู่การรักการอ่านได้มากขึ้น เช่น ทายปัญหาอะไรเอ่ย อ่านกับตุ๊กตาตัวโปรด อ่านไปเต้นไปหรืออ่านไปด้วยเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดด้วยบ้างด้วยการยิงความถามง่ายๆ
สั้นๆแล้วตั้งใจฟังลูกตอบ
8.ใช้เวลาให้พอดี
การใช้เวลาอ่านนานมากจนเกินไปอาจทำให้ลูกเบื่อหรือสั้นเกินไปก็อาจจะทำให้ลุกหงุดหงิด ต้องสังเกตท่าทีของลูกว่ายังต้องการฟังอยู่หรือเปล่า ถ้ายังต้องการฟังก็ควรอ่านไปเรื่อยๆเมื่อลูกเริ่มสนใจสิ่งอื่น ก็ควรหยุดการอ่านไม่ควรฝืนลูกให้นั่งฟังต่อไป แต่ถ้าลูกไม่ยอมหยุดอ่านและขอให้อ่านอีกเรื่อยๆไม่รู้จบ
เราอาจจะต้องกำหนดให้มีความพอดีค่ะ ไม่งั้นพ่อแม่ก็แย่เหมือนกันค่ะ
9.อ่านหนังสือกันอย่างสม่ำเสมอในครอบครัว
การอ่านหนังสือต้องทำทุกวันหรือทำอย่างสม่ำเสมอ วินัยเป็นพื้นฐานที่สำคัญของทุกเรื่องค่ะ
ไม่ว่าจะสะดวกกันเวลาไหนก็ตาม ขอให้ทำเป็นประจำลูกจะเกิดความเคยชินและปฏิบัติจนติดเป็นนิสัย มีวินัย ใส่ใจการอ่านลามไปถึงการเขียนอีกด้วยค่ะ
10.หัวใจของการทำให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านคือไม่ทำให้ลูกเป็นทุกข์จากการอ่าน
ทุกข์ของลูกจากการอ่านเกิดจากการกระทำของพ่อแม่ดังต่อไปนี้ค่ะ
- ยัดเยียด ซื้อมาแล้วต้องอ่าน เรื่องนี้ลูกต้องรู้ การอ่านควรมาจากความตั้งใจอยากจะอ่านด้วยตัวเอง
- หวังสูง เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น อย่าลืมว่าเด็กแต่ละคนมีจังหวะในการเรียนรู้ที่ต่างกัน
- หวงหนังสือ เมื่อลูกหยิบ จับ ตี ดึง ทุบ หรือขีดเขียนหนังสือ ต้องทำใจและปล่อยวาง ลูกยังไม่เข้าใจเรื่องคุณค่าและราคา เลือกหนังสือให้เหมาะกับวัยและค่อยๆสอนวิธีการใช้หนังสือให้กับลูก
- จ้องแต่จะสอน เล็งหาจังหวะในการสอนตามความเหมาะสม อันนี้เห็นด้วยค่ะ แต่ถ้าถึงกับอ่านไปสอนไวยกรณ์ไปทุกบรรทัด อันนี้ลูกคงหมดสนุกกันพอดี
- ถามมาก การตั้งคำถามกับลูกตอนอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการฝึกให้ลูกแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าถามลูกมากเกินไป อาจจะทำให้ลูกเบื่อมานั่งคอยแต่ตอบคำถามมากมาย หมดสนุกกับการติดตามเรื่องราวในหนังสือไปซะเลย
- ขัดคอ ถ้าลูกออกเสียงไม่ชัด พูดผิด ไม่ควรตำหนิลูกหรือหัวเราะใส่ลูก หรือจริงจังกับการแก้ไขมากไปเพราะจะทำให้ลูกไม่มั่นใจในการอ่านออกเสียงครั้งต่อไป
- เบื่อหน่าย ทุกพฤติกรรมของพ่อแม่ล้วนมีผลต่อชีวิตลูกทั้งทางตรงและทางอ้อม ถ้าลูกสนใจในหนังสือและให้พ่อแม่มานั่งอ่านด้วยกัน ถ้าเราทำในทันทีไม่ได้ก็ต้องสร้างเงื่อนเวลา และทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับลูกด้วยค่ะ
สุดท้ายนี้ขอให้ทุกบ้านมีความสุขกับการสร้างลูกให้เป็นนักอ่านตัวน้อยค่ะ